วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เทคนิคการขับรถลดอุบัติเหตุ (Defensive Driving Technique)


โดย น..กิจจา  เรืองไทย
ที่ปรึกษาอาวุโส ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

            เกร็ดจากการอบรมเรื่อง เทคนิคการขับรถลดอุบัติเหตุ บรรยายโดย คุณพีระพงษ์ กลั่นกรอง ผู้มีประสบการณ์ทั้งในการสอนและในสนามแข่งจาก Turning Point Consultant Co., Ltd.
1.      กฎความปลอดภัย
§       ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์
-          คาดเข็มขัดนิรภัยและปรับเบาะนั่ง
-          ปรับมุมกระจกส่องหลังทั้ง 3 บาน
-          เลื่อนคันเกียร์มาที่ตำแหน่ง P (รถเกียร์อัตโนมัติ) หรือเกียร์ว่างสำหรับรถเกียร์ธรรมดา
§       ขณะสตาร์ทเครื่องยนต์ให้เหยียบคลัซ (รถเกียร์ธรรมดา) หรือเบรค (รถเกียร์อัตโนมัติ)
§       อย่ายืนสตาร์ทเครื่องยนต์รถ
§       กรณีขับรถถอยหลัง ให้ขับช้าๆ เท่าที่จะทำได้
§       เหยียบเบรคทดสอบในระยะ 10 เมตรแรกที่เคลื่อนรถออก
§       ดึงเบรคมือทุกครั้งที่จอดรถ (รวมทั้งจอดรอสัญญาณไฟ)
§       หมุนพวงมาลัยให้ล้อชนขอบถนน เมื่อจอดรถบนทางลาดชัน
§       การเปลี่ยนยางรถให้หาวัสดุมารองหนุนล้อรถ เพื่อกันรถเคลื่อนขณะขึ้นแม่แรงยกรถ
§       อย่าจอดรถบนเชิงสะพาน ทางโค้ง หรือช่องขวาสุด เมื่อรถเสีย
2.      ท่านั่งขับรถ (จะบอกขีดความสามารถในการควบคุมรถ)
§       การปรับระยะห่างเบาะรองนั่ง สำหรับรถเกียร์ธรรมดา ให้เท้าเหยียบแป้นคลัชจนสุด ค้างไว้ โดยไม่เขย่ง แล้วเลื่อนเบาะเข้ามาให้เข่างอเล็กน้อย และรถเกียร์อัตโนมัติให้เหยียบคันเร่งจนสุด โดยไม่เขย่งแล้วเลื่อนเบาะเข้ามาเหมือนกับรถเกียร์ธรรมดา
§       ต้องนั่งหลังพิงพนักเบาะให้มั่นคง เวลาโดยชนจะลดแรงที่กระทำต่อกล้ามเนื้อหลัง
§       ปรับระดับคอพวงมาลัยให้เห็นมาตรวัดและไพเตือนบนหน้าปัดและวงพวงมาลัยต้องสูงพ้นหน้าตัก/หน้าขาของผู้ขับรถ
§       มือจับพวงมาลัยส่วนบนสุดและงอแขนเล็กน้อย จะช่วยให้มีระยะหมุนพวงมาลัยได้ดีกว่าการเหยียดแขนตรง
§       เวลาขับรถอย่านั่งหุบเข่า ให้เข่าซ้ายยันกับคอนโซลกลางรถ เพื่อให้เกิดความมั่นคงเวลาขับรถ
§       การหมุนพวงมาลัย ต้องให้น้ำหนักเท่ากันทั้งมือขวาและซ้าย จะทำให้หมุนพวงมาลัยไม่กระตุก
§       ในการเหยียบเบรคหรือคลัซ ให้ส้นเท้าลอยจากพื้นรถ (ถ้าส้นเท้าแตะพื้นรถ แรงจะลงที่พื้นรถมากกว่าไปที่คันเบรค เป็นสาเหตุให้เบรครถไม่หยุด โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ)
3.      การวางแผนขับรถ (Driving plan) จะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ ผู้ขับขี่จะต้อง
§       มองรถที่อยู่ข้างหน้าไปอีก 5 คัน ในการขับตามกันบนถนน (ที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูง) ถ้าคันหน้าแตะเบรค ผู้ขับขี่ก็จะมีเวลาประมาณ 5 วินาทีในการตอบสนองได้ทัน
§       ขณะขับรถเข้าโค้ง ตาต้องมองไปที่ทางโค้ง ซึ่งตาจะประเมินความโค้งและมือจะมีความสัมพันธ์กับตาทำให้ควบคุมรถเข้าโค้งได้ดีขึ้น
§       การขับรถเข้าโค้ง ให้ชะลอความเร็ว หรือแตะเบรคก่อนเข้าโค้ง (Entrance) แล้วถอนเบรค พร้อมกับเร่งคันเร่งเมื่อถึงกลางโค้ง (Apex) และคืนพวงมาลัยเมื่อสุดโค้ง (Exit) ดูภาพประกอบ
§       การเปลี่ยนเกียร์
-          เกียร์ธรรมดา เปลี่ยนที่ความเร็วรอบระหว่าง 3,000-4,000 รอบต่อนาที แต่เมื่อจะ  แซงให้เปลี่ยนเป็นเกียร์ต่ำก่อน
-    เกียร์อัตโนมัติ ให้ใช้ Kick Down ในการแซง
4.      เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย (Driving Tip)
§       การหยุดรถ ควรหยุดห่างจากท้ายรถคันข้างหน้าในระยะที่สามารถมองเห็นล้อรถคันข้างหน้าได้
§       การเปลี่ยนช่องทาง การเลี้ยวหรือแซง ควรให้สัญญาณไฟกระพริบอย่างน้อย 3 ครั้ง ก่อนหมุนพวงมาลัยและควรระมัดระวังรถจักรยานยนต์ที่อาจแซงขึ้นมา
§       การเว้นระยะห่างในขณะขับรถ ควรเว้นระยะห่างประมาณ 2-4 วินาที โดยสังเกตระยะทางประมาณหนึ่งช่วงเสาไฟฟ้า
§       การจอดรถ ควรถอยเข้าที่จอดรถ เพื่อหลีกเลี่ยงการชนกันขณะขับออกจากที่จอดและง่ายต่อการบังคับรถ

การแก้ปัญหาฉุกเฉิน
1.      กรณีหม้อน้ำรั่ว ให้หยุดรถแล้วดับเครื่องยนต์ จากนั้นสังเกตรอยรั่วของหม้อน้ำ ซึ่งจะมีน้ำพุ่งออกมา ต้องอยู่ห่างๆ และห้ามเปิดฝาหม้อน้ำโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้น้ำร้อนพุ่งออกมาลวกได้ ควรปล่อยให้หม้อน้ำเย็นลง
2.      กรณียางระเบิด จะมีเสียงดังจากการระเบิดของยาง พยายามรวบรวมสติไว้ อย่าหักพวงมาลัยทันทีทันใด ค่อยๆ ผ่อนความเร็วลง พวงมาลัยรถจะค่อยๆ หนักขึ้น รถจะเอียงไปทางด้านที่ล้อระเบิด บังคับรถให้วิ่งตรงทาง ค่อยๆ เหยียบเบรคที่ละน้อย นำรถเข้าชิดขอบทางด้านซ้ายแล้วเปลี่ยนยางอะไหล่
3.      เบรคแตก เมื่อเหยียบเบรคจะรู้สึกว่าจมหายลงไปไม่มีแรงต้าน ห้ามล้อไม่ได้ ให้บังคับพวงมาลัยให้รถวิ่งไปในทางที่ปลอดภัย พร้อมกับใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกดปุ่มล็อคคันเบรคมือไว้ แล้วค่อยๆ ดึงคันเบรคมือขึ้นและลงสลับกัน จนกระทั่งชะลอความเร็วและหยุดรถได้สนิท ข้อควรระวังก็คือ อย่าดึงเบรคมือขึ้นอย่างแรงในทันทีทันใด
4.      รถตกน้ำ อย่าตกใจจนไม่ได้สติ ปลดล็อคเข็มขัดนิรภัยออก (การคาดเข็มขัดนิรภัย ในขณะขับขี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด แม้ในกรณีนี้ อย่าเข้าใจผิดว่าเมื่อคาดแล้วจะทำให้ปลดล็อคไม่ทัน เพราะเมื่อรถกระแทกจะทำให้ตัวท่านไม่กระเด็น ทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บ และไม่หมดสติ ซึ่งอาจจะทำให้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) ปล่อยให้ตัวรถบริเวณติดตั้งเครื่องยนต์จมน้ำก่อน ถ้าสามารถเปิดหน้าต่างหรือประตูรถออกได้ในขณะที่ตัวรถยังไม่จมน้ำหมดทั้งคันให้รีบทำ
5.      กระจกหน้าแตก รวบรวมสติ พยายามจำข้างหน้ารถไว้ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อบังคับรถไม่ให้ชน เปิดไฟเลี้ยวซ้ายเข้าจอดไหล่ทางด้านซ้ายมือ ป้องกันรถคันอื่นชนและดึงเบรคมือไว้ หากมีผ้าเทปอยู่ในรถให้นำมาปิดประจกไว้ แล้วเคาะกระจกออก ถ้ามีแว่นตาให้ใส่ไว้เพื่อกันฝุ่นเข้าตา

ขับอย่างมีสติ  ทุกชีวิตจะปลอดภัย