วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

การทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศ (Aerated Static Pile Composting System)

การทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศ (Aerated Static Pile Composting System) 



การหมักปุ๋ยระบบกองเติมอากาศ       เป็นนวัตกรรมที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการผลิตปุ๋ยหมักที่มีความเหมาะสมกับบริบทของเกษตรกรชนบทไทย     สามารถผลิตปุ๋ยหมักในเชิงพาณิชย์เป็นอาชีพเสริมได้  โดยไม่ต้องพลิกกลับกองปุ๋ย  และได้ผลผลิตในเวลาอันสั้น      การผลิตปุ๋ยหมักของชุมชนไม่ว่าจะใช้เองหรือจำหน่าย  ย่อมส่งผลดีต่อระบบเกษตรอินทรีย์  ซึ่งเป็นนโยบายแห่งชาติ     อันเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจของชุมชน   และเป็นการนำใช้ประโยชน์กลับคืนจาก เศษพืชแทนการเผาทำลาย อันจะเป็นการช่วยอนุรักษ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง


วัสดุและอุปกรณ์
1.      เศษพืช  เช่น  เปลือกถั่ว, ฟางข้าว
2.      มูลโค หรือ วัว
3.      พัดลมเติมอากาศ
4.      ชุดท่อพีวีซี 4 นิ้ว เจาะรูพร้อมอุปกรณ์เสริม
ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยหมักฯ 1 กอง มีดังนี้
1. การเตรียมวัตถุดิบ    นำเศษพืชไปย่อยในเครื่องย่อยเศษพืช  ผสมคลุกเคล้ากับมูลโค  สัดส่วน  3 :1  ซึ่งจะทำให้ค่าอัตราส่วนไนโตรเจนมีค่าประมาณ 20-25
2. การขึ้นกองปุ๋ย    นำกิ่งไม้วางก่ายบนท่อพีวีซี  ขนาด  4 นิ้ว  เจาะรูขนาด 4 หุน ที่ต่อมาจากพักลมเติมอากาศ   ซึ่งกิ่งไม้จะช่วยให้มีการระบายอากาศที่ดีภายในกองปุ๋ย       นำวัตถุดิบที่คุลกเคล้าพร้อมกับรดน้ำให้พอหมาด วางทับบนกิ่งไม้ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมปริซึม  มีความกว้างฐาน 2.5 เมตร สูง 1.5 เมตร ยาว 3.5 เมตร  โดยไม่ต้องขึ้นเหยียบ



3.  การเติมอากาศ   ให้เปิดพัดลมโบรเวอร์    ทุกวัน ๆ ละ 2 ครั้ง  คือ เช้าและเย็น  ครั้งละ 15 นาที   เป็นเวลา  30  วัน  หรือมากกว่า    จนกว่าการหมักจะเสร็จ   ปุ๋ยที่หมักเสร็จแล้วจะไม่เห็นลักษณะเดิมของเศษพืช แต่จะเบา ร่วน นุ่ม มีสีดำคล้ำ และไม่มีกลิ่น


4. การดูแลกองปุ๋ย  ควรตรวจสอบความชื้นภายในกองปุ๋ยทุก ๆ 4-5 วัน  โดยล้วงมือเข้าไปจับภายในกองปุ๋ย  แล้วทดลองบีบ   ถ้าเป็นความชื้นที่เหมาะสม  วัสดุจะไม่แห้งเกินไปและไม่มีน้ำไหลเยิ้มติดมือ    การเติมน้ำให้แก่กองปุ๋ยทำได้โดยรดน้ำผิวนอกกองปุ๋ยทุกเช้า และทุก 4 วัน  ให้ใช้ไม้แทงกองปุ๋ยในแนวดิ่งทุกระยะ 40 ซม.  กรอกน้ำลงไป   ปิดรูให้เหมือนเดิม (น้ำไม่สามารถซึมลงภายในกองปุ๋ยได้จากการรดน้ำภายนอกแต่อย่างเดียว  เพราะเนื้อปุ๋ยมีคุณสมบัติการอุ้มน้ำ  จะไม่ยอมปล่อยให้น้ำซึมผ่านลงไปกลางกองปุ๋ย)   ภายใน 2 - 5 วันแรก  อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยจะสูงขึ้น    อาจมีค่าสูงถึง  60 - 80 oซึ่งเป็นเรื่องปกติของการหมักปุ๋ยระบบกองเติมอากาศ  เมื่อการย่อยสลายเกิดขึ้นได้ดีและอินทรีย์สารในวัตถุดิบเริ่มหมดลงไป อุณหภูมิภายในกองปุ๋ยจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ จนมีค่าคงที่หรือใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอก แสดงว่าการหมักได้เสร็จสิ้น

         5. การบ่มและการบรรจุ  เมื่อการหมักสิ้นสุดลง ให้ย้ายปุ๋ยเข้าในที่ร่มแล้วทิ้งไว้เฉย ๆ เป็นเวลาอีก 30 วัน   เพื่อบ่ม (Cure) ให้จุลินทรีย์สงบตัว   เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาการย่อยสลายขึ้นอีกในภายหลัง     ซึ่งอาจทำให้ปุ๋ยในกระสอบมีกลิ่นเหม็น เกิดเชื้อรา และน้ำหนักลดลงได้  ขั้นตอนการบ่มนี้    อาจเกิดความร้อนขึ้นอีกจากการที่จุลินทรีย์ย่อยสลายตัวเอง  กองปุ๋ย  1  กอง    จะใด้ปุ๋ยหมัก  1.5  ตัน  หรือ บรรจุกระสอบได้ 40-50 กระสอบ (30 กก.) ซึ่งจะมีจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดเศษพืชที่เป็นวัตถุดิบ




ต้นทุนการผลิตปุ๋ยหมักฯ ไม่แพงอย่างที่คิด
            การทำปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ   สามารถคืนทุนได้ในเวลาอันสั้น  และเป็นการสร้างอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี  ในการผลิต  มีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 10 คน   ผลิตปุ๋ยเดือนละ 10 กอง  จะมีต้นทุน และรายรับ-รายจ่าย ดังนี้

ต้นทุนคงที่
            -  พัดลมเติมอากาศ     16,000.-  บาท
            -  เครื่องย่อยเศษพืช    52,000.-  บาท
            -  ท่อพีวีซี + สายไฟ       8,000.-  บาท                         รวม             76,000.-  บาท

รายจ่าย ต่อ 1 กอง
            -  มูลโค 40 กระสอบ        800.-  บาท
            -  ค่าไฟฟ้า                        100.-  บาท
            -  ค่ากระสอบปุ๋ย                          400.-  บาท
             รวม               1,300.-  บาท
(จะได้ปุ๋ย  50 กระสอบ  ต้นทุนเฉลี่ยกระสอบละ  26.- บาท)

รายรับ ต่อ 1 กอง
จำหน่ายปุ๋ยหมัก 50 กระสอบๆ ละ 70.- บาท จะได้  เงิน  3,500.-  บาท (ราคาขายปลีก กระสอบละ 100-200 บาท)
                       จะเห็นได้ว่า ในการผลิตปุ๋ยหมัก ฯ 1  กอง  จะมีกำไรประมาณ  2,000 3,000  บาท    และถ้าผลิตปุ๋ยเดือนละ  10 กอง  จะมีกำไร  20,000 30,000  บาท       ซึ่งหมายความว่า     ในการผลิตปุ๋ยหมักเป็นอาชีพเสริมของกลุ่มสมาชิก จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า  250,000.- บาทต่อปี    หรืออีกนัยหนึ่ง  ถ้านำปุ๋ยหมักที่ได้  ไปแบ่งสรรใช้กันเองก็เท่ากับว่าเป็นการลดต้นทุนในการทำเกษตรกรรม    ซึ่งทำให้ประหยัดเงินที่ต้องไปซื้อปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเคมี เป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยที่เดียว


*******************************



                   กลุ่มเกษตรกรใดที่สนใจศึกษาดูงานการทำปุ๋ยหมักระบบเติมอากาศ    หรือ อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่      นายวัฒน์   สมบัติ   บ้านเลขที่ 198 หมู่ที่ 7  ตำบลดอนมูล  อำเภอสูงเม่น  จังหวัดแพร่  โทรศัพท์  054-541319, 081-8819163  หรือติดต่อที่ สำนักงานเกษตรอำเภอสูงเม่น, สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น