วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จอมมายากล

จอมมายากล
งานสัมมนาของเท็ด (TED ย่อจาก Technology Entertainment Design) ที่มอนเทอเรย์คาลิฟอร์เนีย เป็นงานที่จัดขึ้นประจำทุกปีเพื่อแสดงผลงานวิจัยใหม่ล่าสุด ผู้เข้าร่วมสัมมนาล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโลก เป็นกลุ่มคนระดับมันสมองที่เดินทางมาจากทุกมุมโลกเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ
งานสัมมนาในปี 2006 ก็เหมือนกับทุกปี หอประชุมใหญ่ขนาด 500 ที่นั่ง บัดนี้เต็มแน่นจนล้น ผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างกระหายจะรับฟังและชมการนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ซึ่งไม่เคยเปิดตัวที่ไหนมาก่อน วิทยากรผู้นำเสนอมักเป็นศาสตราจารย์ผมเผ้ากระเซิง หรือไม่ก็นักวิจัยสติเฟื่องที่หมกตัวอยู่ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์จนตัวขาวซีด จะว่าไปแล้วบรรยากาศของการสัมมนาแทบจะไม่แตกต่างจากงานประชุมผู้คลั่งไคล้ภาพยนตร์สตาร์แทรกเท่าใดนัก
เมื่อแสงไฟในห้องประชุมหรี่ลง ไฟบนเวทีก็จับที่แจฟเฟอร์สัน วาย ฮาน ซึ่งเดินออกมากลางเวทีด้วยความประหม่า ฮานเป็นชายร่างเล็ก ค่อนข้างท้วมแต่ไม่ใช่คนอ้วน ชุดสูทรสีดำแบบแมนฮัตตันเข้ากับผมสีดำและใบหน้าแบบชาวเอเชียของเขาเป็นอย่างดี ฮานไล่สายตาไปยังกลุ่มผู้ชม นั่นมหาเศรษฐีหนุ่มนามอุโฆษ เซอร์กี บริน เจ้าของบริษัทกูเกิล กำลังจ้องมองอย่างเบื่อหน่าย นั่นแจฟ บีซุส แห่งเว็บไซต์อะเมซอนกำลังคุยกับบิล จอย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซัน ไมโครซิสเต็ม ฮานพบว่าคนในหอประชุมล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีชื่อเสียงในแวดวงเทคโนโลยี ส่วนเขาเป็นเพียงวาจกนิรนาม ฮาน รู้สึกตัวลีบเหลือนิดเดียว
 
สุดยอดการนำเสนอ
แล้วฮานก็เริ่มการนำเสนอ เบื้อหน้าของเขาคือจอภาพแบบพิเศษ เป็นแผ่นกระจกใสกว้าง 36 นิ้ว ทำให้ผู้ชมสามารถมองผ่านแผ่นกระจก (ซึ่งมีเส้นตารางที่เรืองแสงอ่อนๆ แต่เห็นได้ชัดในห้องประชุมซึ่งขณะนี้ค่อนข้างมืด) และเห็นอากัปกริยาทุกอย่างของฮานได้อย่างชัดเจน
ฮานตั้งสมาธิกับจอภาพตรงหน้า สมองนึกไล่เรียงถึงลำดับของการนำเสนอที่ฝึกซ้อมมา พลันความประหม่าก็มลายไป ภายในเสี้ยววินาทีเดียว ท่าทีงกเงิ่นของลูกแกะก็เปลี่ยนไปเป็นพยัคฆ์ที่ปราดเปรียว เขาร่ายนิ้วทั้งสิบลงบนผิวกระจกด้วยท่วงทีของนักมายากลผู้จัดเจน พลันบังเกิดเป็นเส้นแสงหลายเส้นไล่ไต่ขึ้นตามปลายนิ้ว เมื่อเขาโบกมือลูบไล้เส้นเหล่านั้นก็กลายเป็นคลื่น ภาพนี้ถูกขยายแล้วฉายลงบนจอภาพขนาดยักษ์ด้านหลังไปพร้อมๆ กัน ทันใดนั้นเขาก็เสกลาวาขึ้น (แบบในตะเกียงลาวาที่เป็นเครื่องแต่งห้อง) แล้วใช้นิ้วทั้งสิบเปลี่ยนแปลงรูปร่างและสีของก้อนลาวาที่ลองลอยอยู่อย่างอิสระในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ราวกับปฏิมากรที่กำลังรังสรรค์ศิลปะเหนือจริง
หลังจากนั่งฟังการบรรยายประกอบสไลด์ที่น่าเบื่อจากวิทยากรอื่นๆ มาแล้วหลายชั่วโมง การนำเสนอนี้เกินความคาดหมายของผู้ชมไปมาก เสียงฮือฮาแสดงความตื่นเต้นเริ่มดังขึ้น แต่หูและสมองของฮานไม่รับรู้ เขาก็กวาดมือทีหนึ่ง ลาวาหายวับไปเหมือนเป็นอากาศธาตุ บนจอถูกแทนที่ด้วยภาพถ่ายหลายใบ เขาสลับภาพไปมา เลื่อนไปที่โน่น ไปที่นี่ โยกย้ายมันราวกับเป็นภาพถ่ายจริงๆ ที่วางอยู่บนโต๊ะ เขาขยายและหดขนาดภาพแต่ละใบโดยใช้นิ้วชี้สองนิ้ว ตรึงที่มุมของภาพแล้วเลื่อนเข้าออกอย่างรวดเร็ว มีเสียงสะอึกอากาศ เสียงอุทาน และเสียงตบมือประปรายจากผู้ชม
ผู้คนตอบรับต่อการนำเสนอดีผิดคาด ฮานพยายามกล้ำกลืนรอยยิ้ม และกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า “สิ่งที่ท่านได้ชมนี้คือวิธีการใหม่ ที่คนรุ่นต่อไปจะใช้เพื่อการปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ซึ่งปราศจากแป้นพิมพ์และเมาส์” เสียงตบมือดังกึกก้องขึ้นห้องประชุมราวกับเปิดสวิทช์  ผู้ร่วมสัมมนาบางคนถึงกับเป่าปากด้วยความพึงพอใจอย่างถึงขีดสุด


Jeff Han (2006) Ideas Worth Sharing
ความคลั่งไคล้
แต่การแสดงไม่จบ เขาดึงแป้นพิมพ์สองมิติออกมา มันค่อยๆ ไถลไปแล้วหยุดลงช้าๆ กลางจอภาพ “เดี๋ยวนี้หมดสมัยแล้วที่เราต้องยอมสยบต่ออุปกรณ์” ฮาน พิมพ์สัมผัสสิบนิ้วกับแป้นพิมพ์นั้น มันทำงานได้อย่างถูกต้อง “ถึงเวลาแล้วที่อุปกรณ์ต้องสยบต่อเรา” เมื่อกล่าวจบเขาก็เลื่อนแป้นพิมพ์ไปข้างๆ พรมนิ้วลงบนกระจก เกิดเป็นลูกกลมสีขาวเล็กๆ มันเพิ่มจำนวนขึ้นทุกครั้งที่นิ้วของเขาสัมผัสกับจอ ลูกบอลน้อยๆ กระโดดโลดเต้นอย่างเริงร่าในเขตที่เขาวาดเป็นคอกไว้
เขาพลิกผ่ามือหนึ่งครั้ง ลูกบอลหายวับไป แทนที่ด้วยภูมิทัศน์ของโลกจากอวกาศ เขาใช้ปลายนิ้วลากเพื่อหมุนโลกและเคลื่อนเข้าหาทวีปหนึ่ง และขยายภาพไปหยุดที่หุบเขาแห่งหนึ่ง เขาเคลื่อนมือไปตามเข็มนาฬิกาทันใดนั้นทิวทัศน์ก็เปลี่ยนมุมจากมุมมองของดาวเทียมเป็นมุมมองจากเครื่องบิน
การแสดงชุดสุดท้ายคือการวาดและควบคุมหุ่นเชิดโดยใช้นิ้วมือทั้งสิบ การนำเสนอทั้งหมดกินเวลาเพียงเก้านาที เมื่อไฟเปิดอีกครั้งและผู้ชมต่างพร้อมใจกันตบมือเสียงเสียงดังลั่นห้องประชุม บางคนถึงกับกรีดร้องอย่างคลุ้มคลั่งราวกับอยู่ในการแสดงดนตรีร็อก ฮาน ยืนมองดูอย่างตกตะลึง “นี่คือการตอบรับเลอเลิศสุดที่เคยพบ” ฮานคิด “นับเป็นบุญตาไม่น้อยแล้ว คุ้มกับการเกิดมาหนึ่งชาติ”
ความคลั่งไคล้แพร่กระจากออกนอกห้องประชุมเมื่อเท็ดนำคลิปวิดีโอนี้ใส่ในเว็บไซต์ ไม่นานคลิปนี้ก็ปรากฏในยูทูบ นักทำบล็อกทั้งหลายหลงใหลมันมาก บ้างก็นำคลิปไปใส่ในบล็อกของตน บ้างก็ใส่ลิงค์ที่ชี้ไปยังคลิปวิดีโอนี้ในยูทูบ ทำให้มันกลายเป็นคลิปวิดีโอนำเสนอทางเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล
 
เขาชื่อฮาน
แจฟเฟอร์สัน วาย ฮาน (Jefferson Y. Han) คือนักวิจัยแห่งสถาบันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คอร์เรนท์ (CIMS) สถาบันนี้เป็นศูนย์กลางการค้นคว้าวิจัยด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์สังกัดมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก  เขาผู้พัฒนาหลักในงานวิจัยจอหลากสัมผัส นอกจากนั้นฮานยังทำวิจัยในโครงการอื่นๆ ด้วย เช่นหุ่นยนต์ที่เดินทางได้ด้วยตนเอง  การจดจำท่าทางการเคลื่อนไหว การสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ตามเวลาจริง และปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์
ฮานเป็นบุตรหัวปีของชาวเกาหลีซึ่งย้ายถิ่นมาตั้งหลักแหล่งในสหรัฐฯ ยุคปีค.ศ. 1970 สมัยเด็กฮานชอบแกะเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในบ้านออกเป็นชิ้นๆ “ทีวี เครื่องเล่นเทป หรืออะไรก็ได้ที่มีไฟกระพริบ” ปัจจุบันเขายังมีแผลเป็นน่าเกลียดซึ่งเกิดจากน้องสาวทำหัวแร้งร้อนๆ หล่นใส่เท้า แม้บิดาของเขาจะไม่ชอบใจนักที่มีเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ถูกแกะไว้เกลื่อนบ้าน แต่ก็ยังสนับสนุนความสนใจในเทคโนโลยีของเขา ฮานสามารถท่องสูตรคูณได้ก่อนเข้าชั้นอนุบาล ในค่ายฤดูร้อนเขาลอบต่อสายตรงกับรถกอล์ฟเพื่อออกขับเล่นในยามดึก ซ่อม Walkman ให้สหายชาวค่ายเพื่อแลกกับน้ำอัดลม เรียนไวโอลินเหมือนเด็กเอเชียฐานะดีทั่วไป และสร้างเครื่องยิงเลเซอร์ได้เมื่ออายุเพียงสิบสองปี

พ่อแม่ของเขาอดออมและทำงานหนักเพื่อส่งเขาเข้าเรียนที่เดลตัน โรงเรียนเอกชนหรูหราในเขตตะวันออกตอนเหนือของแมนฮัตตัน เมื่อจบแล้วก็ส่งให้เรียนที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ฮานเลือกเรียนสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ลาออกกลางคันเพื่อไปทำงานกับบริษัท CU-SeeMee ซึ่งเป็นบริษัทที่เพิ่งก่อตั้ง บริษัทนี้ขายซอฟท์แวร์การประชุมวิดีโอทางไกลซึ่งเขาช่วยพัฒนาให้ระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ที่คอร์เนล
ปัจจุบันฮานก่อตั้งบริษัทชื่อ เพอร์สเปคตีฟพิกเซล เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีจอหลากสัมผัสให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และผลิตสินค้าขายให้กับกองทัพบกสหรัฐฯ และบริษัทที่ได้รับสัญญาว่าจ้างจากกองทัพเช่น ล็อกฮีต มาร์ติน และบริษัทเกี่ยวกับสื่อ เช่น พิกซาร์และซีบีเอส

สร้างเองใน 10 ขั้นตอน
จอหลากสัมผัสไม่ใช่เทคโนโลยีอวกาศ เราสามารถหาวัสดุพื้นๆ มาสร้างจอแบบนี้ขึ้นใช้งานเองได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือประหลาดพิสดารในห้องทดลองปรมาณู  เครื่องมือช่างหรือเครื่องมือของนักสมัครเล่นทั่วๆ ไปก็ใช้ได้แล้ว จอหลากสัมผัสที่จะแนะนำวิธีสร้างนี้ ใช้หลักการตามที่ ฮาน บรรยายไว้ในรายงาน “วิธีสร้างจอหลากสัมผัสราคาถูก” ที่ตีพิมพ์ในวารสารของการประชุม ACM Symposium on Applied Computing ในปีค.ศ. 2005 (เครื่องต้นแบบที่ฮานนำเสนอในงานเท็ด 2006 ก็ใช้หลักการเดียวกันนี้)

ขั้นตอนที่ 1 : เข้าใจทฤษฏีจอหลากสัมผัส
ทฤษฏีจอหลากสัมผัสเรียบง่ายจนน่าแปลกใจ ตัวจอภาพสร้างจากแผ่นอะครีลิกใสธรรมดาๆ แล้วใช้เครื่องฉายภาพ ฉายภาพจากคอมพิวเตอร์ลงบนตัวรับภาพด้านหลังโดยตรง หรือจะฉายให้สะท้อนกับกระจกก่อนก็ได้ ส่วนการตรวจสอบว่านิ้วมือจิ้มที่ตำแหน่งใด ทำได้โดยใช้แสงอินฟราเรดจากหลอด LED (ความจริงควรเรียกว่า IED) หลายๆ ตัว ติดเรียงไว้จำนวนมากที่ขอบจอ เมื่อนิ้วแตะที่จุดใดกล้องอินฟราเรดจะรับภาพได้ การตรวจสอบนิ้วหลายนิ้วที่จิ้มลงหลายจุดพร้อมๆ กันทำได้ง่ายมาก เพราะกล้องอินฟราเรดรับภาพทั้งจอได้ในคราวเดียวกันอยู่แล้ว

หลักการของจอหลากสัมผัสอาศัยความจริงที่ว่าเมื่อนิ้วแตะลงบนแผ่นอะครีลิก จะเป็นผลให้แสงอินฟราเรดที่ส่องผ่านในแผ่นอะครีลิกเกิดการกระจายตัว
อุปกรณ์หลักๆ ที่ต้องใช้ในการสร้างจอหลากสัมผัสมีเพียง 4 อย่างคือ 1)ตัวจอภาพ (ที่เราจะสร้างขึ้นเองจากแผ่นอะครีลิก ไม้อัด และ LED แบบอินฟราเรด) 2)แผ่นรับภาพ 3)กล้องอินฟราเรดและ 4)คอมพิวเตอร์
 
กาวหรือสารสำหรับยึดจับต่างๆ ให้ใช้สีดำเพื่อลดการสะท้อนแสง

ขั้นตอนที่ 2 : ทำกรอบ
กรอบของจอภาพเป็นกรอบไม้ธรรมดาเหมือนกรอบรูป จะทำใหญ่เท่าใดก็ได้ตามใจชอบ ถ้าเป็น LED อินฟราเรดธรรมดาราคาถูก จอไม่ควรใหญ่เกิน 30 นิ้ว เพราะความแรงของแสงจาก LED จะเป็นตัวจำกัดขนาดของจอ

การประกอบจอภาพต้องอาศัยฝีมือช่างไม้นิดหน่อย ถ้าเคยทำกรอบรูปมาแล้วก็ง่าย อย่าเพิ่งแกะพลาสติกบางๆ ที่หุ้มแผ่นอะครีลิกออก ให้เก็บไว้กันแผ่นอะครีลิกเป็นรอย ไว้คอยแกะออกเมื่อทำเสร็จทุกอย่างแล้ว

ขั้นตอนที่ 3 : สร้างรางใส่หลอด
เราต้องติดตั้งหลอด LED จำนวน 88 ดวงไว้รอบๆ ขอบจอ (คือจะติดที่ขอบทั้งสี่ด้าน ด้านละ 22 ดวง) อาจจะยึด LED กับอะลูมิเนียมเส้นด้วยกาวตราช้างก็ได้

หลอด LED อินฟราเรดคือประเอกของงานนี้ LED ไม่ใช่หลอดไฟ จึงไม่มีไส้หลอด มันเป็นไดโอดที่สร้างจากสารกึ่งตัวนำ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ดาษดื่น หาซื้อได้ที่บ้านหม้อ ราคาหลอดละสามถึงห้าบาท สำหรับจอขนาด 30 นิ้วใช้ LED จำนวน 88 หลอดก็พอ (ยกตัวอย่างเช่นตัวนี้ www.es.co.th/Detail.asp?Prod=TSAL7400 เป็น GAAS/GAAIAS INFRARED EMITTING DIODE ถ้าซื้อจำนวน 150 หลอดจะตกหลอดละ 2.22 บาท)
 
หาอะลูมีเนียมเส้นยาวสามสิบนิ้ว กว้างหนึ่งนิ้วมาเจาะรูเป็นระยะๆ อย่างที่เห็นในรูป ดูให้แน่ว่าขนาดของรูสรวมหลอด LED ได้พอดีไม่หลวม ให้แน่นไว้จะดีกว่า เมื่อเจาะเสร็จแล้วให้พ่นสีดำด้าน


ภาพนี้แสดงวิธีติดหลอด LED อินฟราเรด อย่าลืมใส่ตัวต้านทาน (ขนาดสัก 1K) ไว้ลดกระแสด้วย ไม่อย่างนั้นหลอดอาจจะชำรุดได้ ไฟที่จ่ายให้ LED ใช้แรงดันขนาด 5 โวลต์ก็พอ

ขั้นตอนที่ 4 : ขัดขอบอะครีลิก
เพื่อให้แสงอินฟราเรดเดินทางได้ดีขึ้น เราจำเป็นต้องขัดขอบทุกด้านของแผ่นอะครีลิกด้วยกระดาษทรายเบอร์ 200
 
ขอบของแผ่นอะครีลิก มักไม่ใสและไม่เรียบ ทำให้แสงผ่านได้ไม่เต็มที งานนี้ต้องอดทนขัดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะใส

ขั้นตอนที่ 5 : ประกอบจอ
เมื่อเตรียมทุกอย่างครบแล้วก็ถึงเวลานำมาประกอบเข้าด้วยกัน
นำแผ่นไม้ที่ตัดไว้ทำกรอบมาประกบเข้าด้วยกัน ใส่รางอะลูมีเนียม (ซึ่งมี LED ติดไว้แล้ว) สอดเป็นไส้ไว้ตรงกลาง เราจะใช้แผ่นอะครีลิกสองแผ่น แผ่นด้านบน (คือด้านที่จะใช้นิ้วจิ้ม) ต้องหนาหน่อยเพื่อความแข็งแรง ตรงกลางใส่กระดาษฝ้า หรือกระดาษไขที่ใช้เขียนแบบเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวรับภาพคอมพิวเตอร์จากเครื่องฉายภาพ 
 
ประกอบเสร็จดูด้านข้างจะเป็นเห็นว่ามีสภาพเหมือนแซนวิชแบบนี้

ขั้นตอนที่ 6 : ยำเว็บแคม
ดังที่เรียนให้ทราบไปแล้วในหัวข้อที่หนึ่งว่าเราจำเป็นต้องใช้กล้องอินฟราเรด ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อกล้องอินฟราเรดตัวเป็นแสน เราสามารถนำเว็บแคมเก่าๆ ที่ไม่ใช้แล้วมาดัดแปลงได้

แม้ตาคนจะมองไม่เห็นแสงอินฟราเรด แต่เว็บแคมจะไวต่อแสงอินฟราเรดมาก ผู้ผลิตจึงใส่แผ่นกรองแสงอินฟราเรดไว้ สิ่งที่เราต้องทำมีเพียงถอดแผ่นที่ว่านี้ออก ซึ่งทำได้โดยแกะเว็บแคมออกจนเห็นตัวรับภาพ (CCDs) จะเห็นว่ามีแผ่นสีเขียวสี่เหลี่ยมเล็กๆ มันคือแผ่นกรองแสงอินฟราเรด ให้ถอดออก เพียงเท่านี้กล้องก็จะรับแสงอินฟราเรดได้ 
เรื่องสำคัญอีกอย่างคือเราต้องการให้มันรับได้แค่อินฟราเรดเท่านั้น ไม่ต้องการให้รับแสงในย่านอื่นๆ เลย ซึ่งทำได้ง่ายอีกเช่นกัน วิธีทำคือให้นำแผ่นฟิล์มที่ใช้ถ่ายภาพ เอาเฉพาะส่วนที่เป็นสีดำมาตัดออกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม (ให้มีขนาดเท่ากับแผ่นกรองแสงอินฟราเรดที่ถอดออกไปก่อนหน้านี้) ใส่แทนที่แผ่นกรองแสงอินฟราเรด เพียงเท่านี้เว็บแคมเก่าๆ ก็จะกลายเป็นกล้องอินฟราเรดแล้ว

ขั้นตอนที่ 7 : ติดตั้งเครื่องฉายภาพ
นำเครื่องฉายภาพมายึดไว้กับผนังเหนือจอภาพที่เราสร้างขึ้น หากต้องการใช้วิธีฉายใส่กระจกที่อยู่ใต้โต๊ะแล้วสะท้อนภาพเข้าใต้โต๊ะ หรือจะติดเครื่องฉายภาพไว้ใต้โต๊ะก็ได้เหมือนกัน

ขั้นตอนที่ 8 : ขาตั้ง
นำเหล็กท่อหรือเหล็กฉากมาตัดแล้วเชื่อมเพื่อใช้เป็นฐานของจอภาพ
ให้ทำขาตั้งที่มีพื้นด้านบนลาดเอียงเล็กน้อยเหมือนโต๊ะเขียนแบบ  กะความสูงขนาดโต๊ะมาตรฐานให้พอทำงานสะดวก และที่สำคัญต้องให้มีระยะที่ภาพจากเครื่องฉายเต็มโต๊ะพอดี

ขั้นตอนที่ 9 : ซอฟต์แวร์นอกจากฮาร์ดแวร์แล้วหัวใจสำคัญของจอหลากสัมผัสคือซอฟต์แวร์ที่จะตีความภาพตำแหน่งที่นิ้วแตะจอภาพไปเป็นพิกัด นอกจากนั้นซอฟท์แวร์ยังต้องรับรู้น้ำหนักและความเร็วในการกดด้วย ลองดูที่ www.fingerworks.com หากต้องการพัฒนาซอฟท์แวร์เองก็มีไลบรารีที่ช่วยให้การพัฒนาซอฟท์แวร์ทำได้ง่ายขึ้น ดาวน์โหลดซอฟท์แวร์ได้ที่ www.whitenoiseaudio.com/touchlib มีตัวอย่างโปรแกรมให้ทดสอบด้วย

ภาพตำแหน่งที่นิ้วแตะจอภาพ เป็นภาพที่ได้จากกล้องอินฟราเรด

ขั้นตอนที่ 10 : ถึงเวลาสนุกประกอบทุกอย่างเข้าที่ ต่อสายไฟเลี้ยงเข้าหลอด LED (ใช้เครื่องจ่ายไฟตรง  5V หรือ 9V ขนาด 300ma ก็พอ) เสียบเว็บแคมกับคอมพิวเตอร์ ฉายภาพขึ้นจอ รันโปรแกรม เพียงเท่านี้เราก็จะได้สนุกกับจอหลากสัมผัสที่ทำเองในบ้านราคาประหยัด
ถ้าไม่นับคอมพิวเตอร์กับเครื่องฉายภาพซึ่งแพงเอาเรื่อง ค่าวัสดุทั้งหมดที่ใช้เพื่อสร้างจอหลากสัมผัสจะอยู่ประมาณสี่ถึงแปดพันบาท (ขึ้นอยู่กับว่าเรามีวัสดุเหลือใช้อะไรอยู่บ้าง)  ใช้เวลาสร้างสองสามวันซึ่งส่วนมากจะหมดไปกับการเจาะรู ติดตั้งหลอด LED และการขัดขอบแผ่นอะครีลิก

Microsoft Surface
ปีนี้เป็นปีแห่งจอหลากสัมผัสอย่างแท้จริง มิได้มีแต่แอปเปิลเท่านั้น บริษัทคอมพิวเตอร์ชั้นนำหลายบริษัทกำลังหาทางนำเทคโนโลยีใหม่นี้มาบูรณาการกับสินค้าของตน บริษัทไมโครซอฟท์ถึงกับเปิดแผนกใหม่ ชื่อ Microsoft Surface เพื่อพัฒนาและวิจัยสินค้าที่ใช้จอหลากสัมผัส “เซอร์เฟสคอมพิวเตอร์” (Surface computer) เป็นคอมพิวเตอร์รูปทรงโต๊ะกาแฟ ผิวโต๊ะทำหน้าที่เป็นจอภาพขนาดใหญ่ ตรวจจับการเคลื่อนไหวของมือผู้ใช้ด้วยแสงอินฟราเรด ภายในมีกล้องห้าตัวสามารถตรวจจับการกดของนิ้วมือและสิ่งของพร้อมๆ กันได้ 52 จุด
เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ซ่อนอยู่ใต้โต๊ะเป็นพีซีธรรมดา แต่เป็นรุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงหน่อย คือใช้ซีพียู Core 2 Duo แรม 2GB และการ์ดจอใหม่ล่าสุด ระบบปฏิบัติการมีแกนหลักเหมือน Windows Vista ทีมงาน Microsoft Surface สร้างส่วน WPF (Windows Presentation Foundation) ขึ้นใหม่ให้เหมาะกับการใช้งานแบบจอหลากสัมผัส โครงการนี้มีชื่อรหัสว่ามิลาน ทำให้บางครั้งมีผู้เรียนคอมพิวเตอร์นี้ว่า Microsoft Milan (นอกเหนือจาก Table PC)
สิ่งที่น่าทึ่งของมิลานคือนอกจากจะปฏิสัมพันธ์กับการใช้นิ้วมือแล้ว มันยังปฏิสัมพันธ์กับอุปกรณ์ดิจิตอลพกพาได้ด้วย ในวิดีโอคลิปที่เว็บไซต์ www.microsoft.com/surface แสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้ใช้วางกล้องถ่ายรูปดิจิตอลไว้บนโต๊ะ คอมพิวเตอร์จะรับรู้และแสดงภาพถ่ายในกล้องออกมาบนโต๊ะเหมือนภาพที่อัดไว้บนกระดาษจริงๆ ภาพถูกคลีออกเรียงซ้อนกันไว้ เมื่อมีผู้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ PDA มาวาง ข้อมูลในรายชื่อการติดต่อก็จะแสดงออกมาบนโต๊ะ ผู้สาทิตยังแสดงวิธีโอนย้ายข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ว่าทำได้ง่ายเพียงใช้ปลายนิ้วลากภาพถ่ายจากกล้องแล้วสะบัดค่อยๆ ภาพก็จะเลื่อนไปหาและถูกดูดเข้าไปในเครื่องรับโทรศัพท์

ใครลอกใคร
ถ้าดูในวิดีโอสาทิตการทำงานจอหลากสัมผัสของฮาน (www.perceptivepixel.com)  กับของไมโครซอฟท์ (www.microsoft.com/surface) จะเห็นว่าคล้ายคลึงกันมากจนน่าสงสัยว่าเลียนแบบกันหรือไม่ ไมโครซอฟท์อ้างว่าจัดตั้งและพัฒนา Surface มาตั้งแต่ปี 2001 แต่เก็บเป็นความลับสุดยอด และเพิ่งได้ฤกษ์เปิดตัวในปี 2007 นี้เอง ส่วนฮานออกแสดงเทคโนโลยีนี้ครั้งแรกในงานเท็ดปี 2006
ถ้าแอบดูอุปกรณ์ใต้โต๊ะของ Microsoft Surface จะพบว่าใช้เทคโนโลยีเช่นเดียวกับของฮานทุกอย่าง

 
ภาพแสดงอุปกรณ์ใต้โต๊ะคอมพิวเตอร์ Microsoft Surface 1)จอภาพทำจากแผ่นอะครีลิกใสใส่ฉากรับแสง 2)แหลงกำเนิดแสงอินฟาเรด 3)คอมพิวเตอร์ 4)เครื่องฉายภาพ (ที่เห็นลอยอยู่สี่ตัวคือกล้องอินฟราเรด)
ถ้าดูที่เว็บไซต์ของบริษัทฟิงเกอร์เวิร์ค (www.fingerworks.com) จะพบว่าบริษัทนี้ผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีนี้มานานแล้ว จนปัจจบันบริษัทนี้ปิดกิจการไปแล้ว (แต่ยังคงเว็บไซต์ไว้ให้เราดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ได้ฟรี)

ของดีที่ปลายนิ้วเทคโนโลยีจอหลากสัมผัสช่วยให้เราใช้คอมพิวเตอร์ได้สนุกมากขึ้น และเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ในโอกาสและสถานที่ซึ่งแตกไปจากเดิม การปราศจากแป้นพิมพ์และเมาส์ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์กินความกว้างขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้อาจมีสินค้าไฮเทครูปแบบใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในลักษณะที่เราคาดไม่ถึง แอปเปิลนำหน้าไปก่อนแล้วกับ iPhone แต่ไมโครซอฟท์ย่อมไม่ยอมทิ้งห่างแน่ ต่อไปคำขวัญของไมโครซอฟท์ที่ว่า “คอมพิวเตอร์ทุกโต๊ะทุกบ้านวิ่งโปรแกรมของเรา” อาจเปลี่ยนเป็น “โต๊ะทุกตัวทุกบ้านกลายเป็นคอมพิวเตอร์” ก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น