วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มาทำ CD Linux เป็นของตัวเองกันดีกว่า ...

มาทำ CD Linux เป็นของตัวเองกันดีกว่า ...

ฝันอย่างหนึ่งของตัวเองก็คืออยากทำลินุกส์ที่เป็นดิสโตรเป็นของตัวเอง พยายามศึกษาลินุกส์ด้วยตัวเอง มีคนแนะนำให้ลองศึกษา LFS (Linux From Scratch) ก็ทำได้ระดับหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ก็ยังมีอีกหลายๆเรื่อง(มาก)ที่ยังไม่เข้าใจเลยสักนิด ความฝันที่ฝันไว้ก็ยังไกลอยู่ จนกระทั่งวันนี้ไม่อยากจะเชื่อว่าฝันที่คิดไว้จะมาถึงเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ...
เพราะมีโอกาสได้เข้าไปอ่านรายละเอียดของ Ubuntu Ultimate Edition ซึ่งเป็นดิสโตรที่นำ Ubuntu Edgy มาเพิ่มเติมแพ็คเก็ตมากมายจัดอยู่ในรูปแบบ LiveDVD ก็อ่านไม่เรื่อยๆจนมาสะดุดตรงช่วงที่ว่าลินุกส์ของเขาสร้างมากจากสิ่งใดบ้าง สิ่งแรกก็คือ Ubuntu Edgy และอีกส่วนก็คือ Reconstuctor ถึงตรงนี้ก็สงสัยว่า "มันคืออะไร?" ก็กดลิงค์ไปดู ... โอ้ว! พระเจ้าช่วย.. กล้วยทอด.. มันยอดมากเลยจอร์จ.. รอดหูรอดตาตัวเองไปได้ยังไงเนี้ย ...

ขออธิบายพื้นฐานการทำงานสักเล็กน้อย LiveCD คือศัพท์ที่ถูกนำมาเรียกใช้กับลินุกส์ที่ทำงานบนซีดี โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความสามารถฮาร์ดดิสต์แต่อย่างใด หลักการคร่าวๆของ LiveCD ก็คือระบบลินุกส์ที่ถูกจำลองไว้บน CD ในรูปแบบ SquashFS ระบบซิสเต็มไฟล์ชนิดหนึ่ง(ที่เริ่มมีใช้เฉพาะลินุกส์) ระบบไฟล์ดังกล่าวจะถูกบีบย่อ(Compressed) ในอัตราที่สูงถึง 3 เท่าตัวของเนื้อที่ใช้งานจริง (ระบบไฟล์ลินุกส์ประมาณ 2 GB จะถูกบีบย่อเหลือไม่ถึง 700 MB หรือมีขนาดเทียบเท่าแผ่น CD หนึ่งแผ่นเท่านั้นเอง) แต่ก็มีข้อจำกัดในการใช้งานของระบบไฟล์ประเภทนี้ก็คือ สามารถอ่านใช้งานได้อย่างเดียวเท่านั้น (Read Only) ไม่สามารถจัดเก็บค่าคืนกลับไปได้ แต่ข้อด้อยดังกล่าวจะถูกนำมาประยุกต์ใช้งานกับระบบ RamFS หรือระบบซิสเต็มไฟล์ที่ทำงานบน RAM ในรูปแบบ Dynamic(ถ่ายเทข้อมูลและใช้งานเมื่อจำเป็น) จะเห็นได้ว่าระยะหลังๆลินุกส์ดิสโตรต่างๆได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้กับดิสโตรของตัวเอง กล่าวกันว่าหากเครื่องคอมพิวเตอร์คุณมี RAM มากหน่อย แล้วใช้งาน LiveCD ความเร็วการใช้งานเสมือนกับทำงานบนฮาร์ดดิสต์ประมาณนั้นเลย ...

Reconstructor is an Ubuntu GNU/Linux CD Creator.

Reconstructor คือเครื่องมือที่พัฒนามาจาก Python ช่วยในการ Remaster(ปรับแต่งต้นฉบับ)ให้ง่ายขึ้น จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้งานนำต้นแบบ ISO File ของลินุกส์ที่เบสออน Ubuntu ทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ Desktop (LiveCD และติดตั้ง) หรือ Alternate (ติดตั้งอย่างเดียว) นำมาดัดแปลงหรือตบแต่งให้เป็นไปลักษณะของผู้จัดทำเอง (Customization) ภายในแอพพลิเคชั่นจะมีเครื่องมือช่วยในการตบแต่งหรือดัดแปลง เช่น ภาพพื้นหลัง , ธีมเดสก์ทอป, กรอบหน้าต่าง, และอื่นๆอีกมากมาย ...

Reconstructor ได้ตระเตรียมสภาพแวดล้อมรวมถึงเครื่องมือที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เพื่อสะดวกในการปรับแต่งลินุกส์ตามความต้องการ แต่จะเน้นหนักไปทาง Gnome จะใช้ความสามารถได้เต็มที่ ส่วน Desktop Manager อื่นๆ เช่น Kubuntu หรือ Xubuntu อาจขาดฟังค์ชั่นไปบ้างบางส่วน Reconstructor ยังได้คิดค้นระบบปรับแต่งอัตโนมัติ ในรูปแบบสคริปต์สำเร็จรูป สามารถดาวน์โหลดสคริปต์สำเร็จรูปที่มีผู้จัดทำไว้มาใช้ แต่ถ้าหากคุณศึกษาขั้นตอนจัดทำเล็กน้อยคุณก็อาจจะสร้างสคริปต์ขึ้นมาใช้งานได้เอง นอกจากนี้หากคุณเข้าใจระบบลินุกส์เป็นอย่างดีอยู่แล้ว Reconstruct ก็ยังเตรียมเครื่องมือช่วยปรับแต่งในรูปแบบ Command Line ทำให้การปรับแต่งสมบูรณ์และยืดหยุ่นมากขึ้น ...

Reconstructor เครื่องมือสร้าง CD (ส่วนตั้วส่วนตัว) สามารถใช้งานได้กับลินุกส์เบสออน Ubuntu ตั้งแต่รุ่น Dapper > Edgy > Feisty ขั้นตอนจัดทำก็มีขั้นตอนที่ค่อนข้างง่าย ไม่ยุ่งยากหรือทำให้สับสน การทำงานทั้งสิ้นจะกระทำบน GUI Mode (Frontend) ถ้าคุณรู้จักหรือเคยได้ยินลินุกส์ดิสโตรเหล่านี้Ubuntu Cristmas / Ubuntu Ultimate / Ubuntu Gamers / Linux Mint ดิสโตรต่างๆเหล่านี้ล้วนถูกปรุงแต่งมาจาก Reconstructor ทั้งสิ้น ...

ความต้องการของโปรแกรม
  • python (only tested on version 2.4)
  • pygtk2
  • squashfs-tools (needed for Root FS extraction)
  • chroot (needed for Root FS customization)
  • mkisofs (needed for ISO creation)
  • gcc (needed for Usplash generation and VMWare/Qemu module installation)
  • make (needed for VMWare/Qemu module installation)
  • rsync (needed for Remastering ISO)
  • libbogl-dev (needed for Dapper Usplash Generation)
  • usplash-dev (needed for Usplash Generation - Edgy and up)
  • gpg (needed for Alternate Key Signing)
  • dpkg-dev (needed for Alternate Key Package Building)
  • fakeroot (needed for Alternate Key Package Building)
  • apt-utils (needed for Extra Repository Generation)
แพ็คเก็ตต่างๆด้านบน จะหาได้จากแหล่งดาวน์โหลดมาตราฐานโดยเพิ่มเติมส่วนแหล่งดาวน์โหลด (Repositories) Universe และ Multiverse แนะนำใช้คำสั่งติตตั้งเป็นชุด แพ็คเกจประกอบต่างๆที่เกี่ยวพันกันจะถูกติดตั้งมาด้วย ดังคำสั่งต่อไปนี้
sudo apt-get install squashfs-tools gcc rsync libbogl-dev usplash-dev gpg dpkg-dev fakeroot apt-utils
เมื่อความต้องการของโปรแกรมถูกติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการดาวน์โหลดโปรแกรมจาก “ที่นี่” ในเว็บเพจจะมีชุดโปรแกรมสองแบบให้เลือกติดตั้ง ชุดแรกเป็นซอร์สโค๊ด reconstructor.tar.gz มาคอมไพล์เองตามลักษณะของลินุกส์ ส่วนชุดหลังจะเป็นชุดติดตั้งแบบเดเบี้ยน (deb File) ชอบแบบไหนก็ตามใจชอบ แต่ตัวเองขอเลือกรูปแบบ deb file ให้ดาวน์โหลดไฟล์ reconstructor.deb มาที่เครื่องเราแล้วติดตั้งโปรแกรมผ่านเชลล์โปรแกรม ด้วยคำสั่งดังนี้
sudo dpkg -i reconstructor.deb
Using
เราสามารถเรียกโปรแกรมได้จากระบบเมนู หรือจะเรียกใช้งานผ่านคอมมานด์ไลน์
sudo reconstructor
จะแสดงหน้าจอต้อนรับดังภาพ

ปัจจุบันถูกพัฒนาถึงเวอร์ชั่น 2.5.1 เราสามารถอัพเดตโปรแกรมรุ่นใหม่ๆโดยการกดปุ่ม ”Update” กดปุ่ม “Next” เพื่อทำงานต่อ

Setup
การติดตั้งจะเริ่มจากการสร้างพื้นที่ทำงาน (working directories) เพื่อใช้ในกระบวน ดัดแปลง/ตบแต่ง/เปลี่ยนโครงสร้าง ดังภาพ

working directories: กำหนดสถานที่ตั้งพื้นที่ทำงาน
Create Remaster directories: พื้นที่ข้อมูลโครงสร้างทั้งหมดภายใน LiveCD
Create Root directories: พื้นที่ของระบบลินุกส์ต่างๆ ที่ถูกแตกมาจากแฟ้ม SquashFS
Create Initial Ramdisk directories: พื้นที่ข้อมูลที่ใช้ในเป็นค่าเริ่มต้นของ RamFS
LiveCD ISO filename: กำหนดที่ตั้งแฟ้มต้นแบบ ISO File ที่จะนำมาปรุงแต่งดัดแปลง

กดปุ่ม Next โปรแกรมจะทำการอ่านข้อมูลจาก ISO File แล้วแยกแยะไฟล์ต่างๆไปใส่ยังพื้นที่การทำงานตามค่าที่กำหนด ขั้นตอนนี้ใช้เวลามากพอสมควร และสิ่งที่ควรคำนึงถึงในขั้นตอนนี้ ให้การกำหนดค่าทุกตัวเมื่อเริ่มต้นใช้งานในครั้งแรกของ ISO File ที่นำมาใช้ แต่เมื่อเข้าใช้งานในภายหลังแล้วไม่มีการเปลี่ยน ISO File ใหม่ก็ให้ไปสู่ขั้นตอนถัดไปได้เลย ไม่ต้องกำหนดค่าใดๆอีก ...

Boot Screen
เป็นส่วนที่ใช้เปลี่ยนแปลงหน้าตาในการบูตเข้าระบบให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้งาน

Live CD Splash: ภาพที่นำมาใช้จะต้องมีขนาด 640x480 และอยู่ในรูปแบบไฟล์เป็น .pcx
Live CD Text Color: กำหนดสีให้กับการแสดงผลของตัวอักษรต่างๆ
Usplash Filename: แฟ้มหรือค่าที่นำมาใส่จะเป็นต้องเป็นไปตามมาตราฐาน usplash.so

Generate:
 ปัจจุบันใช้ได้สมบูรณ์กับดิสโตรที่เบสออน 6.06 เท่านั้น โดยการกำหนดภาพที่มีขนาด 640x400 แนะนำใช้สีไม่ควรเกิน 16 สี โดยภาพที่นำมาใช้จะต้องอยู่ในรูปแบบไฟล์ .png ซึ่งหลังกดปุ่ม ”Generate” โปรแกรมจะทำการสร้างแฟ้ม upslash.so ให้แล้วนำไปกำหนดใน Usplash File ส่วนเบสออน 6.10 ขึ้นไปก็ต้องออกแรงนำซอร์สจาก Lanchpad มาดัดแปลงตบแต่งเอาเอง เมื่อกำหนดค่าต่างๆ เรียบร้อยก็กดปุ่ม “Apply” เปลี่ยนแปลงค่า แล้วเลือกทำขั้นตอนถัดไป

Gnome
ส่วนนี้ใช้เฉพาะกับดิสโตรที่ใช้ Gnome เป็น Desktop Manager หากเป็นดิสโตรอื่นๆ เช่น Kubuntu หรือ Xubuntu ไม่สามารถใช้งานในส่วนนี้ได้ คงต้องประยุกต์ปรับแต่งเอาเอง ก็ให้ข้ามขั้นตอนนี้ไป ...

GDM Login Theme: กำหนดภาพหน้าจอระบบล็อกอิน 
Desktop: กำหนดภาพWallpaper และ Fonts ที่ต้องการ
Desktop Theme: กำหนดค่าTheme, Window borders, Icons

สำหรับวัตถุดิบสำเร็จรูปอาจจะหาได้จาก www.gnome-look.org เมื่อกำหนดค่าต่างๆ เรียบร้อยก็กดปุ่ม “Apply” เปลี่ยนแปลงค่า แล้วเลือกทำขั้นตอนถัดไป

Apt
ขั้นตอนนี้คือการกำหนดค่าแหล่งดาวน์โหลดเพิ่มเติมหรือแหล่งอื่นๆที่นอกเหนือจากแหล่งดาวน์โหลดมาตราฐาน

Recostructure ได้เตรียมแหล่งดาวน์โหลดอื่นๆไว้บางส่วนให้เลือก หรือนอกเหนือจากนั้นก็สามารถกำหนดค่าผ่านหน้าต่าง Custom Repositories เมื่อกำหนดค่าต่างๆ เรียบร้อยก็กดปุ่ม “Apply” เปลี่ยนแปลงค่า แล้วเลือกทำขั้นตอนถัดไป

Optimization
คือส่วนสนับสนุนเพิ่มเติมที่ Reconstructor มีให้เพื่อเพิ่มความเร็วในการเปิดและปิดระบบ

เลือกค่า Enable ในส่วน Startup จะแสดงค่า Service บางส่วนออกมาให้เลือกว่าต้องการให้เปิดใช้เซอร์วิสเหล่านี้เมื่อตอนเปิดระบบหรือไม่ ส่งผลเพิ่มความเร็วในการเข้าระบบขึ้น สำหรับ Optimize Shutdown หากเลือกหัวข้อนี้จะมีการข้ามขั้นตอนบางอย่างทำให้เวลาปิดระบบเร็วขึ้น เมื่อกำหนดค่าต่างๆ เรียบร้อยก็กดปุ่ม “Apply” เปลี่ยนแปลงค่า แล้วเลือกทำขั้นตอนถัดไป

LiveCD
ส่วนนี้คือส่วนเพิ่มเติมการกำหนดค่า Username ,Password, Hostname เพื่อประโยชน์ในการใช้งานด้าน remote เช่น secure shell (ssh)

เมื่อกำหนดค่าต่างๆ เรียบร้อยก็กดปุ่ม “Apply” เปลี่ยนแปลงค่า แล้วเลือกทำขั้นตอนถัดไป

Modules
คือเชลล์สคริปที่เขียนตามขั้นตอนการทำงาน framework of Reconstructor จะทำงานโดยผ่านสภาพแวดล้อม chroot ให้อัตโนมัติ

สามารถกำหนดว่าให้ทำงานทันที หรือทำเมื่อบูตระบบ นอกจากโมดูลต่างๆที่ทาง Reconstructor เตรียมไว้ให้แล้ว ยังสามารถ Add เพิ่มโมดูลที่มีผู้อื่นหรือตัวเองจัดทำขึ้นจาก ที่นี่ เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องด้วยการ Update Module และในส่วนนี้ยังมีคอมมานด์ในการติดตั้งหรือถอดถอนแพ็คเกจ Custom apt-get (install/remove) เมื่อกำหนดค่าต่างๆ เรียบร้อยก็กดปุ่ม “Apply” เปลี่ยนแปลงค่า แล้วเลือกทำขั้นตอนถัดไป

Apply Change
เป็นขั้นตอนยืนยันการเปลี่ยนแปลง พร้อมที่จะจัดสร้าง ISO File ฉบับส่วนตั๊วส่วนตัว ...

เมื่อกด "Next" โปรแกรมจะเริ่มขบวนทำ ISO File ตัวใหม่ขึ้นมา ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานพอสมควร

Are you ready?
เมื่อขั้นตอนก่อนหน้าเรียบร้อยจะปรากฏหน้าจอดังกล่าว

ขั้นตอนนี้คุณสามารถเขียนแผ่น CD โดยการกดปุ่ม "Burn ISO"

การเขียนแผ่น CD จะเป็นไปตามมาตราฐานสากลคือ CD = 700MB หากขนาดไฟล์ ISO มีค่าเกินจากนี้โปรแกรมจะไม่ยอมเขียนแผ่นให้ เราอาจจะไปเขียนแผ่นด้วยโปรแกรมภายนอกเช่น K3B ซึ่งมีออพชั่นพิเศษที่ยอมให้เขียนแผ่นเกินมาตราฐาน 700MB ได้ สูงสุดที่เคยทำได้ประมาณ 721MB ซึ่งก็แล้วแต่คุณภาพของแผ่น ก่อนหน้าจะถึงขั้นตอนสุดท้ายเราสามารถประมาณขนาดของแฟ้ม ISO File (เป็นค่าประมาณไม่แม่นยำนัก) โดยการกดปุ่มภาพดังนี้

จบขั้นตอนพื้นฐานในการทำ Remaster CD ด้วยวิธีง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้วิธี Command Line ให้ยุ่งยากเลย แต่บางครั้งบางกรณีเราอาจต้องการที่จะล้วงลึกเข้าไปในระบบกว่าปกติที่มีอยู่ Reconstructor ได้เตรียมเครื่องมือที่ว่าไว้แล้ว กดปุ่มภาพ Terminal ดูตามภาพ

คือหน้าจอ chroot Terminal จะนำเราเข้าสู่สภาพแวดล้อมของลินุกส์ที่เรากำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างอยู่ ทำได้ทุกอย่างในรูปแบบ Command Line นอกจากกรณีเดียวคือ GUI Mode ที่ไม่สามารถใช้งานได้

Tip&Trick
ก่อนหน้าตัวเองได้ทดลองทำ LiveCD โดยฝากคุณเว็บคุณมะระ www.ubuntuclub.com เปิดบริการ(ชั่วคราว)ให้เพื่อนๆได้ดาวน์โหลดไปทดลองดูเป็นไอเดีย โดย LiveCD ดังกล่าวต้องการจัดทำขึ้นให้ตรงกับความต้องการของตัวเองคือ "พร้อมใช้งานทันที" เพราะต้นฉบับแท้ๆไม่มีสิ่งที่เราต้องการ ดังนั้นเราก็ต้องจัดทำผนวกเข้าไปเอง ขอยกตัวอย่างดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาร่วมกัน ...

สิ่งที่คาดหวัง LiveCD ส่วนตัวก็คือ

ระบบภาษาไทย- กำหนดรหัส Thai.UTF8 เป็นค่า Default
- แสดงเมนูเป็นภาษาไทย
- ปุ่มสลับภาษา

ระบบทั่วไป
- ติดตั้งแพ็คเกจ build-essential (ชุดคอมไพล์เลอร์ระบบ)

ด้านมัลติมีเดีย
- ติดตั้งแพ็คเกจระบบเสียง ทำให้ดูหนังฟังเพลงได้ทันที

ปรับแต่งความสามารถของ Firefox Browser

- ติดตั้ง Libthai สำหรับตัดคำไทย
- ติดตั้ง Flash สำหรับสำหรับเว็บที่ใช้แฟลชทั้งหลาย
- ติดตั้ง MediaPlayer Connectivity เพื่อดูคลิปวีดีโอผ่านอินเตอร์เน็ต
- ติดตั้ง FasterFox เพื่อเร่งความเร็วการแสดงผล
- แก้ปัญหาการแสดงผลภาษาไทยเพี้ยน(กระโดด)

จากโจทย์ดังกล่าวเราจะกระทำผ่าน Chroot Terminal มีขั้นตอนดังนี้

กำหนดค่าแหล่งดาวน์โหลด
nano /etc/apt/sourceslist
ให้ใส่ค่าดังกล่าวแทน reposition เดิม
deb http://th.archive.ubuntu.com/ubuntu feisty main restricted multiverse universe
deb http://th.archive.ubuntu.com/ubuntu feisty-backports main restricted multiverse universe
deb http://th.archive.ubuntu.com/ubuntu feisty-proposed main restricted multiverse universe
deb http://th.archive.ubuntu.com/ubuntu feisty-security main restricted multiverse universe
deb http://th.archive.ubuntu.com/ubuntu feisty-updates main restricted multiverse universe
ปรับปรุงค่า Repositons ใหม่
apt-get update
ติดตั้งเครื่องมือใช้ในการคอมไพล์โปรแกรม
apt-get install build-essential
ติดตั้งแพ็คเกจภาษาไทย
apt-get install libthai0 libthai-dev gtk-im-libthai pango-libthai ttf-thai-tlwg xfonts-thai-nectec language-pack-th language-pack-gnome-th language-support-th
ติดตั้งไลบรารี่สำหรับงานมัลติมีเดีย
apt-get install gstreamer0.10-alsa gstreamer0.10-esd gstreamer0.10-ffmpeg gstreamer0.10-fluendo-mp3 gstreamer0.10-fluendo-mpegdemux gstreamer0.10-gl gstreamer0.10-gnomevfs gstreamer0.10-gnonlin gstreamer0.10-pitfdll gstreamer0.10-plugins-bad gstreamer0.10-plugins-bad-dbg gstreamer0.10-plugins-bad-multiverse gstreamer0.10-plugins-bad-multiverse-dbg gstreamer0.10-plugins-base gstreamer0.10-plugins-base-apps gstreamer0.10-plugins-base-dbg gstreamer0.10-plugins-farsight gstreamer0.10-plugins-good gstreamer0.10-plugins-good-dbg gstreamer0.10-plugins-ugly gstreamer0.10-plugins-ugly-dbg gstreamer0.10-plugins-ugly-multiverse gstreamer0.10-plugins-ugly-multiverse-dbg gstreamer0.10-sdl gstreamer0.10-tools gstreamer0.10-x
แก้ปัญหาแสดงผลภาษาไทย(แก้ฟอนต์กระโดดตามวิธีคุณกำธร) ดาวน์โหลดไฟล์จาก "ที่นี่" นำข้อมูลในแฟ้มบันทึกลงแฟ้มนี้
nano /etc/fonts/conf.avail/65-thaifont.conf
ทำการลิงค์ค่าไปยัง /etc/fonts/conf.d
ln -sf /etc/fonts/conf.avail/65-thaifont.conf /etc/fonts/conf.d
กำหนดค่าเริ่มต้นภาษาไทยเมื่อเริ่มระบบ
nano /etc/environment
บันทึกข้อความเหล่านี้ลงในแฟ้ม
LANG=th_TH.UTF-8
รวมถึงแฟ้มตัวนี้ด้วย
nano /etc/locale.gen
บันทึกข้อความเหล่านี้ลงในแฟ้ม
th_TH.UTF-8 UTF-8
จบขั้นตอนในส่วน Command Line ให้ทำการล้าง Cache ที่ใช้ในการติดตั้งเพื่อการประหยัดเนื้อที่
apt-get clean
apt-get autoclean
ณ ตอนนี้เหลือแต่หัวข้อ "การสลับภาษา" กับ "Firefox" ที่ไม่สามารถตั้งค่าผ่าน Command Line ได้ (อาจจะได้แต่หมดปัญญาความรู้ในการจัดทำด้วยวิธีปกติ) ดังนั้นต้องใช้วิธี "ลักไก่" เพียงเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เป็นใช้ได้ แต่วิธีนี้จะต้องเสีย CD หนึ่งแผ่นเพื่อสร้าง LiveCD(ชั่วคราว) หรือเรียกผ่าน Qemu (Emulator) แบบนี้ก็ไม่เสีย CD ถึงขั้นตอนนี้มีข้อสังเกตุ ให้ตรวจสอบค่า Estimate ISO จะเห็นว่ามีเนื้อที่เกิน 700 mb แน่นอน ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะต้นฉบับที่เรามีเขาก็อัดแพ็กเกจมาแบบสุดๆแล้ว แล้วเรายังเพิ่มแพ็คเกจอื่นเข้าไปอีก เนื้อที่มันจึงต้องเกินแน่นอน หรือเราอาจจะขยับไปเขียนเป็น DVD ก็ได้ แต่เสียดายของ ดังนั้นต้องหาเนื้อเพิ่มเติมโดยการลบสิ่งที่คิดไม่สำคัญ เช่นแอพพลิเคชั่นที่เราไม่ชอบ หรือไม่ค่อยได้ใช้ มีจุดแนะนำ 3 แห่งที่เราไม่ค่อยได้ใช้กัน

Repositories CD > /home/[username]/reconstructor/remaster/pool/
Document ต่างๆ
 > /usr/share/doc/Fonts ภาษาอื่น ๆ > /usr/share/fonts/
สำรวจเนื้อที่ให้เพียงพอต่อการจัดทำ CD แล้วสร้าง LiveCD ตามวิธีที่ได้กล่าวมาข้างต้น จากนั้นนำบูตเครื่องด้วยแผ่น LiveCD ที่ทำขึ้น จนเข้าสู่หน้าจอเดสก์ทอป ให้ทำการกำหนด Keyboard Layout Option ด้วยวิธีปกติ ตบแต่งหน้าตาเดสก์ทอปตามตามพอใจเรียบร้อย จากนั้นเรียกโปรแกรมไฟร์ฟ็อกซ์ขึ้นมา แก้ไขตบแต่งหน้าตาให้อย่างที่เราต้องการจะให้เป็น ติดตั้ง Flash Player ด้วยวิธีไปหน้าเว็บที่มีฟังค์ชั่น Flash เช่น www.manager.co.th หากเว็บนั้นมีการใช้ Flash ตัวไฟร์ฟ็อกซ์จะมีคำถามแนะนำให้ติดตั้ง Flash Player ก็ให้ทำการติดตั้ง สำหรับ Plugin Extension อื่น ขอแนะนำ FasterFox (ช่วยเร่งความเร็วในการอ่านเว็บ) และ MediaPlayerConnectivity (สำหรับดูคลิปวิดีโอผ่านเน็ต) จริงๆไฟร์ฟ็อกซ์ก็มีปลั๊กอิน Totem ผนึกมาให้แล้ว แต่จากการทดสอบปรากฏว่าทำงานไม่ดี ทดสอบไฟร์ฟ็อกซ์ให้สมบูรณ์ตามความพอใจ ก็ปิดไฟร์ฟ็อกซ์แล้วเปิด nautilus ไปยังตำแหน่ง Home เลือกอ๊อพชั่นแสดงแฟ้มที่ซ่อนไว้ จะปรากฏไฟล์ที่ซ่อนอยู่ให้ทำการสำเนาโฟลเดอร์ดังต่อไปนี้เก็บเอาไว้ก่อน
.mozilla.gconf 
.gnome2
จากนั้นปิดระบบ ถอดแผ่นออก บูตเครื่องใหม่อีกครั้ง ให้ทำการคัดลอกแฟ้มที่เก็บไว้ก่อนหน้าไปยังตำแหน่ง /home/[username]/reconstructor/root/etc/skel/ ตรงนี้คือส่วนที่บอกว่า "ลักไก่" ตำแหน่ง /etc/skel/ หมายถึงค่าต่างๆที่อยู่ภายใต้โฟลเดอร์นี้จะถูกคัดลอกนำไปยัง Home ของผู้ใช้ที่ล็อกอินเข้ามา หรือเปรียบเสมือนเป็นค่าเริ่มต้นในการทำงานครั้งแรกของทุกๆยูสเซอร์ ...

สิ้นสุดขั้นตอนการตบแต่งค่าให้เป็นตามความต้องการแล้ว ให้เรียกโปรแกรม Reconstruction แล้วผ่านทุกขั้นตอนโดยไม่ต้องกำหนดค่าใดๆเพิ่มเติมอีก(อาจจะตรวจสอบเนื้อที่เพื่อความแน่นอน) และเข้าไปสู่ขั้นตอนการสร้าง ISO File แล้วจัดการเขียนแผ่นซะ ตอนนี้เราก็ได้ LiveCD ฉบับพิเศษของตัวเองเรียบร้อย ^^ กิ๊ว กิ๊ว ...

บทความอาจพิดพลาดหรือตกหล่นขออภัยด้วยนะครับ จะหมั่นตรวจทาน ...

ท้ายนี้ขอขอบคุณทีมงาน Reconstructor ที่สร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องมืออันแสนวิเศษที่ช่วยทำสิ่งยากๆให้ยูสเซอร์ธรรมดาอย่างเราๆท่านได้ใช้งานในรูปแบบง่ายๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ http://reconstructor.aperantis.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น